Thursday, March 21, 2013

กำหนดการบานของดอกซากุระที่เกาหลีมาแล้ว (2013)

마침내 겨울이 가고 봄이 왔다. มาชิมเน คยออุรี คาโก โพมี วัดตะ ในที่สุดฤดูหนาวก็ผ่านไปและฤดูใบไม้ผลิก็มาเยือน จริงๆยังไม่แน่ใจว่าจะพูดประโยคนี้ได้เต็มปาก เพราะเมื่อคืนนี้และเช้าตรู่ของวันนี้อุณหภูมิยังติดลบ 4 องศาเซลเซียสอยู่เลย อย่างไรก็ดีปีนี้ถือว่าอากาศอบอุ่นเร็วกว่าทุกปี โดยเฉพาะวันที่ 9 มี.ค.ของปีนี้ ร้อนผิดประหลาด ที่เกาะ Jeju อุณหภูมิสูงถึง 28.2 องศาเซลเซียสเลย สูงสุดในรอบ 106 ปีของวันเดียวกัน ผลของอากาศที่ร้อนนี้กรมอุตุนิยมวิทยาของเกาหลีได้ออกมารายงานว่าปีนี้ดอกซากุระจะบานเร็วกว่าปีที่แล้วถึง 8 วัน ใครที่อยากมาดูดอกซากุระที่เกาหลีเตรียมวางแผนกันได้เลยค่ะ


วิวดอกซากุระแถวย่าน Sinchon (신촌)

ซากุระถือเป็นตัวแทนของดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิที่เกาหลีก็ว่าได้ เพราะเป็นต้นไม้ที่มีมากพอสมควรที่เกาหลี ดอกซากุระในภาษาเกาหลีคือ พอดกด (벚꽃) กด (꽃) แปลว่าดอกไม้ ดอกซากุระจะเริ่มบานจากทางตอนใต้ของประเทศไล่ขึ้นมาทางเหนือ (เพราะทางใต้อุ่นกว่าจึงบานก่อนนั่นเอง) โดยเริ่มที่เกาะ Jeju เริ่มบานในวันที่ 17 มี.ค. ทางตอนใต้ของประเทศจะบานราวๆ 23 มี.ค. - 1 เม.ย. ทางตอนกลางของประเทศจะบานราวๆ 2 - 13 เม.ย. และทางตอนเหนือๆของประเทศจะบานหลังวันที่ 13 เม.ย.ไปแล้ว ปรกติเมื่อดอกซากุระเริ่มบานจะสวยที่สุด (ช่วง peak) เมื่อผ่านไป 5 -7 วัน และจะบานอยู่ราวๆ 10-14 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอากาศด้วย เพราะในช่วงเดือนเม.ย.มักจะเริ่มมีฝนตก ถ้าบังเอิญเจอฝนดอกซากุระก็จะร่วงหมด ดอกซากุระเป็นดอกไม้ที่สวยมากแต่ความงามของดอกซากุระจะอยู่กับเราเพียงไม่นาน ดังนั้นเมื่อดอกซากุระเริ่มบานสวยก็ต้องรีบไปดู

สำหรับที่โซลจะเริ่มบานราวๆ 13 เม.ย.จุดที่ผู้คนนิยมไปดูดอกซากุระที่สุดในโซลน่าจะเป็นแถว Yeouido Park (Yeouido ออกเสียงว่า ยออึยโด 여의도) โดยเฉพาะบริเวณ Hangang Park (한강 공원 ฮันกัง คงวอน) และถนน Yunjungno (윤중로) เดี๋ยวจะแนะนำวิธีการไปตอนท้ายนะคะ


ข้อมูลการบานของดอกซากุระปีนี้ ข้อมูลจาก visitkorea.or.kr
เมือง วันที่คาดว่าจะบานวันแรก
Seoul 9 เมษายน
Chuncheon 12 เมษายน
Incheon 13 เมษายน
Gangneung 5 เมษายน
Cheongju 7 เมษายน
Daejeon 2 เมษายน
Pohang 26 มีนาคม
Jeonju 1 เมษายน
Daegu 25 มีนาคม
Gwangju 28 มีนาคม
Busan 23 มีนาคม
Tongyeong 28 มีนาคม
Yoesu 17 มีนาคม
Seogwipo 17 มีนาคม
 
 
นี่คือวิวดอกซากุระแถวบ้าน ไม่ต้องไปหาดูไกลก็ได้ แต่อย่างที่บอกความงามของดอกซากุระอยู่กับเราแค่แป๊บเดียว
ภาพบนและภาพล่างถ่ายจากมุมเดียวๆกัน ต่างกันไม่กี่วัน
 
 
วิธีไปจุดชมซากุระที่ Hangang Park แถวถนน Yunjungro (หลัง National Assembly)
1. บอกแท๊กซี่ว่าไป ยุนจุงโน - ยออึยโด คงวอน (윤중로, 여의도 공원)
2. รถไฟใต้ดิน สาย 5 (สีม่วง) ลงสถานี Yeouido (여의도역) เดิน 5 นาทีมุ่งหน้าไปทาง National Assembly (국화의사당) หรือลงสถานีถัดไปชื่อ Yeouinaru (여의나루역) ทางออก 1 เดิน 10 นาที (มุ่งหน้าไปด้านตรงข้ามกับการไปตึก 63) ปกติจะลงที่สถานีนี้แล้วเดินเล่นขนานกับแม่น้ำฮันไปเรื่อยๆ แม้ไกลแต่ก็มีดอกซากุระให้ดูตลอด
3. จริงๆมีรถเมล์ผ่านแถวนี้หลายสายแต่อาจจะยากไปสำหรับผู้ไม่ชำนาญทาง ใครจะมาเที่ยวถามกันได้นะคะ (ต้องรู้ก่อนว่าจะมาจากจุดไหนแล้วจะแนะนำให้ได้ค่ะ)

ทุกปีที่ Yeouido จะมีงาน Hangang Yeouido Spring Flower Festival (여의도 봄꽃축제) ปีนี้จะจัดในช่วงวันที่ 12 – 18 เม.ย. (ถ้าเป็นไปได้โปรดหลีกเลี่ยงวันเสาร์ อาทิตย์ เพราะคนจะแน่นมากๆ) ดูข้อมูลเทศกาลดอกซากุระ / ดอกไม้ฤดูใบไม้ผลิทั่วประเทศที่ ลิงค์นี้ค่ะ

 
ข้อมูลจุดชมดอกซากุระที่มีชื่อเสียง ข้อมูลจาก visitkorea.or.kr
จุดชมดอกซากุระ (ที่มีขื่อเสียง) วันที่คาดว่าจะบานวันแรก
Seoul Yeouido Park โดยเฉพาะแถวถนน Yunjungno 8 เมษายน
Gyeongju Bomun Lake Resort 4 เมษายน
Cheongju Musimcheon Stream 2 เมษายน
Hadong Ssanggyesa Temple Simni Cherry Blossom Path 27 มีนาคม
Jinhae Yeojwacheon Stream 28 มีนาคม

นอกจากที่ Yeouido และบริเวณแม่น้ำฮันแล้วจุดที่มีดอกซากุระสวยๆให้ดูก็มีอีกหลายที่เช่น ภูเขานัมซัน, Children's Grand Park (서울 어린이대공원), Seoul Forest (서울숲), Samcheongdong (삼청동길) รวมทั้งตามถนนหนทางทั่วๆไปแถว Shinchon, City Hall ไปจนถึงย่าน Gangnam ก็มีดอกซากุระบานสะพรั่งให้ดูกันในช่วงเดือนเม.ย. ไว้เดือนหน้าดอกซากุระบาน จะไปเที่ยวแล้วหาถ่ายรูปมาฝากค่ะ

Wednesday, March 20, 2013

ว่าด้วยเรื่องบนโต๊ะอาหารที่เกาหลี

วันนี้มีเรื่องเล่าเบาๆเกี่ยวกับเรื่องบนโต๊ะอาหารของคนเกาหลีมาฝาก ก่อนอื่นขอบอกว่าคนเกาหลีทานข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับคนไทยเลย แต่พันธุ์ข้าวที่เกาหลีจะคล้ายกับข้าวญี่ปุ่นคือเหนียวๆกว่าข้าวของไทย เม็ดข้าวสารของเกาหลีจะกลมป้อมกว่า วันนี้ไปซื้อข้าวสารมาพอดี ปกติที่บ้านจะทานข้าวกล้องเลยเอารูปข้าวกล้องเกาหลีมาฝากค่ะ



ในวันทั่วไปคนเกาหลีจะทานข้าวกับซุปหรือแกงและเครื่องเคียงประมาณ 3 - 5 อย่าง เครื่องเคียง หรือ side dish นั้นเรียกเป็นภาษาเกาหลีว่า พันชัน (반찬) พันชันมีหลากหลายประเภทเช่น กิมจิชนิดต่างๆ ผักลวกปรุงรส อาหารนึ่งหรือทอดต่างๆ สลัด รวมทั้งอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เช่น พุลโกกิ (불고기) หรือแม้แต่สาหร่ายแผ่นๆ ก็เป็นพันชันได้เช่นกัน จะว่าไปแล้วพันชันก็คือ อาหารอะไรก็ได้ที่ทานกับข้าวและแกงหรือน้ำซุป แต่อะไรก็ได้ในที่นี้ก็ไม่ใช่อะไรก็ได้แบบไม่ต้องคิดอะไรเลยนะ คนเกาหลีให้ความสำคัญกับพันชันมาก การเลือกพันชันต่างๆ มาจัดวางบนโต๊ะอาหารในปริมาณที่เหมาะสม หลากหลายรสชาติ สีสันสวยงาม รสอร่อยกลมกลืนกัน ถือเป็นงานที่ท้าทายของแม่บ้านเกาหลีทีเดียว

ถ้าเทียบกับอาหารไทยแบบจัดเต็มซึ่งมักจะมี ต้ม ผัด แกง ทอด อาหารเกาหลีก็คล้ายๆกัน เพียงแต่ว่าปริมาณพันชันแต่ละชนิดจะไม่เยอะเท่ากับกับข้าวสำรับแบบไทยๆ หากใครเคยไปทานร้านอาหารเกาหลีจะเห็นว่าพันชันแต่ละจานล้วนกระจุ๋มกระจิ๋มยิ่งนัก หากเป็นร้านอาหารที่เกาหลี พันชันจะขอเติมได้ตลอด

การจัดวางถ้วยจานชามบนโต๊ะอาหารเกาหลีก็มีหลักเกณฑ์ด้วยนะ -.-" การจัดวางจากซ้ายไปขวาจะเป็นดังภาพคือ ถ้วยข้าวถ้วยซุป ช้อนและส้อม ส่วนพันชันต่างๆก็จะวางไว้ตรงกลางโต๊ะเพื่อที่จะได้ทานร่วมกันได้ หากมีถ้วยน้ำจิ้มก็จะวางถ้วยน้ำจิ้มไว้ตรงกลางสุด คนเกาหลีมีตะเกียบและช้อนเป็นอาวุธสำหรับคีบและตักอาหารนะคะ อธิบายให้ชัดๆก็คือ ตะเกียบไว้สำหรับคืบอาหารต่างๆที่ทานร่วมกัน ส่วนช้อนไว้สำหรับตักข้าวและของเหลวต่างๆ

สำหรับที่นั่งในโต๊ะอาหาร ระบบที่ว่าผู้อาวุโสต้องนั่งหัวโต๊ะไม่ค่อย apply กับคนเกาหลีเท่าไหร่ เพราะบ่อยครั้งที่ตามร้านอาหารไม่มีเก้าอี้ตรงหัวโต๊ะ แต่จะใช้หลักง่ายๆคือ ตำแหน่งที่โปร่งโล่ง สบาย เห็นวิวสวยๆหรือ เห็นจอโทรทัศน์ พูดง่ายๆว่าที่ๆดีกว่าควรจะให้ผู้ใหญ่นั่ง (ค่อนข้างเป็นหลักเหตุผลทั่วไปนั่นแหล่ะ) หากเป็นการทานอาหารตามบ้านก็ยึดหลักเดียวกัน ที่นั่งที่เห็นโทรทัศน์ถือเป็นที่นั่งทองคำ ต้องให้ผู้ใหญ่หรือแขก (อาวุโส) นั่งเท่านั้น

ในละครเกาหลีเราอาจเห็นบ่อยๆว่าคนเกาหลีนั่งทานอาหารกับพื้น โดยวางอาหารบนโต๊ะเตี้ยเล็กๆ ที่เรียกว่า พับซัง (밥상) หลายคนอาจมีคำถามในใจว่าคนเกาหลีเค้าไม่ใช้โต๊ะอาหารหรือไง คำตอบคือแล้วแต่ค่ะ สำหรับบ้านที่มีโต๊ะอาหารก็ย่อมใช้โต๊ะอาหาร แต่ถ้าบ้านใดไม่มีโต๊ะ หรือในวันที่มีแขกมามากเกินที่จะนั่งที่โต๊ะอาหารได้ ก็จะยกพับซังมาวางที่ห้องรับแขก แล้วนั่งล้อมวงดูทีวีไป ทานอาหารไป ส่วนบ้านที่มีโต๊ะกลางในห้องรับแขกก็มักจะใช้โต๊ะกลางนั่นแหล่ะแทนพับซัง ที่สำคัญอย่าลืมกฎที่ว่า ผู้อาวุโสต้องหันหน้าไปทางทีวีนะคะ เอิ้ก เอิ้ก ^^

วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนเกาหลี 1

ประเทศเกาหลีถือเป็นประเทศที่มีดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก จากข้อมูล Global Status Report on Alcohol and Health 2011 ของ WHO ประเทศเกาหลีมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 14.8 ลิตรต่อคน (หมายถึงปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์) สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ซึ่งมากกว่าประเทศไทยถึงเท่าตัวเลยทีเดียว (ประเทศไทยมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 7.1 ลิตรต่อคน)

ครอบครัวคนเกาหลีมักจะดื่มโซจู หรือมักกอรี่ (막걸리..เหล้าที่ทำจากข้าว) ไปพร้อมกับการทานอาหารในวันที่มีเรื่องดีๆ สำหรับกลุ่มเพื่อนฝูงหากมีโอกาสสังสรรค์กันหลังเลิกงาน หลังจากทานข้าวก็มักจะไปดื่มกันต่อ โดยเฉพาะในการทำงานและในการติดต่อธุรกิจด้วยแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกันถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว อาจารย์ เชวอินชอล (최인철) อาจารย์คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโซลได้ให้ความเห็นว่า
เพราะคนเกาหลีให้ความสำคัญกับจิตใจมาก จึงส่งผลให้สังคมเกาหลีเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในองค์กรใดๆความสัมพันธ์ระว่างบุคคลดูจะมีความสำคัญกว่าตัวงานเสียอีก นอกจากนี้ความเป็นหนึ่งเดียวกันก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับองค์กรเช่น กัน ดังนั้นคนเกาหลีในที่ทำงานเดียวกันจึงต้องมี เฮวชิก (회식) หรือการเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างคนทำงานอยู่เป็นประจำ
ธรรมเนียมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนเกาหลีค่อนข้างแปลกคือ หากเราดื่มแอลกอฮอล์กับใครก็ตามแม้ครั้งทั่งเพื่อนหรือญาติสนิท หากแอลกอฮฮล์นั้นๆหมดแก้ว คนดื่มจะรินเติมเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นรินให้ ดังนั้นหากต้องไปดื่มแอลกอฮอล์กับใครก็ตาม เราควรหมั่นสังเกตคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ เพื่อที่จะได้รินเติมให้คนรอบข้างเรา

การรินเหล้าให้คนอื่นถือเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่เรารินให้ ต้องรินอย่างนอบน้อม โดยใช้ทั้งสองมือจับขวดเบียร์หรือโซจูตอนริน สำหรับผู้ที่รับการรินเหล้าก็ต้องมีธรรมเนียมด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นแก้วโซจู (แก้วเล็กๆ) ก็ช้สองมือยกแก้วขึ้นอย่างนอบน้อมให้ผู้อื่นรินโซจูให้เรา หากเราใช้มือขวายกแก้วขึ้น แล้วใช้มือซ้ายจับบริเวณข้อมือขวาของเราก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความนอบน้อมขึ้น อีก สำหรับแก้วเบียร์ซึ่งค่อนข้างใหญ่ เราไม่ต้องยกขึ้น แค่แตะแก้วด้วยมือขวาเล็กน้อยระหว่างที่มีคนรินเบียร์ให้เราก็พอ (เพื่อเพิ่มความนอบน้อมอาจใช้มือซ้ายจับบริเวณข้อมือขวาของเราด้วยก็ได้) ยังไม่จบแค่นั้น นี่เป็นแค่ขั้นตอนการรินเหล้าและรับการรินเหล้า ขั้นตอนต่อไปก็คือการดื่ม เราต้องหันไปดื่มด้านตรงข้ามกับผู้ที่รินให้เพื่อแสดงความเคารพ
ด้วย

ความคิดของคนเกาหลีที่ว่าการที่ผู้ใหญ่รินเหล้าให้เราถือเป็นเกียรติอย่าง มาก เวลาที่หัวหน้างาน รุ่นพี่ หรือลูกค้าเป็นรินเหล้าให้ เราจึงควรรีบดื่มอย่างนอบน้อม ในบางกรณีการดื่มรวดเดียวหมดแก้วโดยเฉพาะโซจู ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งหล่ะที่ทำให้คนเกาหลีดื่มเหล้าเยอะ เพื่อมารยาทที่ดี ลูกน้องก็จำเป็นต้องดื่มๆๆเข้าไปตามที่หัวหน้าหรือรุ่นพี่รินเหล้าให้แม้จะ รู้สึกไม่ไหวแล้วก็ตาม!! ในกรณีที่ผู้ใหญ่ชวนให้ลูกน้อง (หรือรุ่นน้อง) ไปสังสรรค์แม้จะก็ไม่อยากไปก็ต้องไป

อาจารย์เชวอินชอลได้ให้ความเห็นอีกว่า
จริงๆแล้วที่คนเกาหลีดื่มเหล้ามากไม่ได้แปลว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ติดเหล้า หรือชอบดื่มมาก แต่เป็นเพราะคนเกาหลีต้องการหาโอกาสพบปะ สร้างความสัมพันธ์กัน สิ่งที่คนเกาหลีสนใจไม่ใช่เหล้าแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยใช้เหล้า เป็นสะพานเชื่อมในการพบปะกัน

นอกจากนี้คนเกาหลีต้องยึดถือระบบอาวุโส (ผู้ที่มีระดับทางสังคมสูงกว่า ถือเป็นผู้อาวุโสเสมอ!) ดังนั้นผู้คนต่างอายุ ต่างเพศ และต่างระดับทางสังคม หรือตำแหน่ง จึงเกิดช่องว่างระหว่างกัน การที่จะกำจัดช่องว่างนี้จึงต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นสะพานในการลดช่องว่าง ระหว่างกัน โดยเฉพาะหากผู้น้อยมีความอีดอัด ไม่พอใจอยู่ในยามปกติจากที่ไม่สามารถพูด บ่นอะไรได้ เพราะติดอยู่กับระบบที่ว่าผู้อาวุโสเป็นใหญ่เสมอ การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกันก็เป็นหนทางที่จะทำให้ผู้ที่อึดอัด กล้าเปิดใจพูด ส่วนผู้รับฟังข้ออึดอัด ติเตียนก็ยินดีฟังสิ่งหล่านั้นมากกว่าในยามปกติที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์
อ่านแล้วรู้สึกยังไงคะ ประเทศไทยเรายังดีที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้นะคะ ก่อนจบฝากวีดีโอโฆษณาโซจูยี่ห้อ ชออึมชอรอม ให้ดูเล่นๆขำๆแต่แอบมีสาระ เพราะตอนกลางๆของโฆษณามีฉากการรินโซจูและการดื่มโซจูให้ดูด้วย สุดท้ายขอบอกสั้นๆว่าแอลกอฮอล์นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้วยังทำให้ขาดสติด้วย หากใครดื่มเป็นประจำก็พยายามลด ละ เลิกกันดีกว่า


ข้อมูลจาก
+ http://www.who.int/substance_abuse/publications/global_alcohol_report/msbgsruprofiles.pdf
+ หนังสือเรียนภาษาเกาหลี ระดับ 4B, KLEC Sogang University

เขียนไว้เมื่อ 30-Aug-2011 ใน http://www.korean4life.com (version เก่า)

วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนเกาหลี 2

จากตอนที่แล้วไม่ว่าคนเกาหลีจะดื่มแอลกอฮอลล์มากด้วยความชอบ ด้วยความเคยชิน ด้วยความจำเป็น หรือด้วยสาเหตุอะไร สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ ประเทศเกาหลีถือเป็นประเทศที่มีดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับ 13 ของโลก

+ คนเกาหลีมักจะพูดว่า ออนเจ ซุลอินา ฮันจัน ฮาจา (언제 술이나 한자 하자) ประโยคนี้แปลตามตัวว่าเมื่อไหร่จะไปดื่มกัน แต่ความหมายเวลาพูดประโยคนี้อาจจะไปหรือไม่ได้ไปดื่มกันก็ได้ เพียงหมายความแค่ว่าอยากเจอกัน เมื่อไหร่เจอกันดี จะดื่มหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที -.-”

+ รูปแบบการสังสรรค์ของคนเกาหลีคือ “ชอบไปต่อ” จากร้านที่ 1 ก็ไปต่อร้านที่ 2, 3, 4,…ต่อ เรียกเป็นภาษาเกาหลีว่า อิลชา (일차), อีชา (이차), ซัมชา (삼차), ซาชา (사차), … (ชา หมายถึงรอบ ส่วน อิล-อี-ซัม-ซา คือ 1-2-3-4 ตามลำดับ) จากดื่มไม่มากและจากที่ยังไม่ดึกมาก ก็เป็นดื่มมากขึ้นเรื่อยๆและดึกขึ้นเรื่อยๆ -.-”

+ คนเกาหลีไม่เพียงแต่ดื่มเหล้ามากและบ่อยแล้ว ยังชอบผสมแอลกอฮอล์ต่างชนิดดื่มเพิ่มความแรงของแอลกอฮอล์เข้าไปอีก เรียกว่า พกทันจู (폭탄주) คือแอลกอฮอล์อื่นๆที่ผสมกันมากกว่าหนึ่งอย่าง ดื่มเข้าไปก็เหมือนดื่มระเบิดหล่ะ ไร้สติได้อย่างรวดเร็วกว่าการดื่มแอลกอฮอล์ชนิดเดียว นอกจากคำว่า พกทันจู มีอีกคำนึงคือที่หมายถึงเบียร์ผสมโซจู คือนำคำขึ้นต้นของโซจูกับเบียร์ (ภาษาเกาหลีเรียก แมกจู – 맥주) มารวมกัน เรียกว่าโซแมก (소맥) นั่นเอง

+ ที่เกาหลีขายแอลกอฮอลล์ได้ตลอดทั้งวัน และผู้คนหาซื้อได้ทั่วๆไปตามร้านสะดวกซื้อ อาทิตย์ที่แล้วผ่านไปที่โรงหนัง CGV เพิ่งเห็นป้ายโฆษณาแพคเกจสินค้าใหม่สำหรับไปดื่มกินในโรงหนัง เป็นชุดเบียร์สองที่กับกับนาโช เห็นแล้วอึ้งๆไปเหมือนกันว่ามีแบบนี้ด้วยเหรอ ถ้าไปเมาในโรงหนังจะเป็นยังไงน้อ -.-”

 + ที่เกาหลีร้านอาหารที่เน้นขายแอลกอฮอลล์ เราเรียกว่า ซุลจิบ (술집) แปลตามตัวว่าร้านเหล้า ในเกาหลียังไม่มีกฎหมายว่าร้านอาหารและ ซุลจิบต้องปิดกี่โมง ดังนั้นจึงมีสถานบันเทิงต่างๆที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง -.-”

+ จากตอนที่แล้ว การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันมีผลต่อหน้าที่การทำงานมากกว่าการทำงานซะอีก สำหรับคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะผู้ชาย) มักจะมีปัญหาการเข้ากลุ่มกับเพื่อนร่วมงาน บางครั้งมีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งด้วย -.-” อย่างไรก็ดีอย่าเพิ่งมองโลกแต่ในแง่ร้ายนัก ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความสุขส่วนตัวมากขึ้น การทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ตั้งแต่เช้าถึงดึกก็เหนื่อยมากพอแล้ว คนรุ่นใหม่จึงกล้าที่จะเอ่ยปากปฏิเสธหัวหน้ามากขึ้น ทำให้การไปดื่มกับที่ทำงานจึงน้อยลงบ้างในบางวงการธุรกิจ บางครั้งการสร้างสัมพันธืที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับขวดเหล้าก็ได้ อาจารย์คิมเจนา ที่มหาวิทยาลัยซอกังเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ในกลุ่มเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน แทนที่จะไปดื่มกันก็เปลี่ยนไปเป็นไปปิคนิคกันแทนในวันเสาร์ อาทิตย์

เมื่อคืนเพิ่งเห็นโฆษณาของกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการจากในโทรทัศน์ เป็นแคมเปญแนะนำวิธีการดื่มแอลกอฮอล์ให้ฉลาด ดูแล้วโดนใจมาก (คนไม่ดื่มดูแล้วโดนใจ แต่คนที่ดื่มไม่รู้คิดยังไง!!)

ถ้าอ่านเรื่อง วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนเกาหลีตอนที่ 1 และตอนนี้อย่างตั้งใจแล้วหล่ะก็รับรองดูวิดีโอนี้แล้วเข้าใจเนื้อความรวมๆได้แน่ๆ Clink ดูวิดีโอตรงนี้เลย

หมายเหตุประกอบการดูวิดีโอ: ^^

+ เค้ารณรงค์ว่าอย่าดื่มพกทัน (ให้ดื่มแอลกอฮอล์อย่างเดียวไม่ผสม)
+ ไปแค่อิลชาก็พอ (อย่าไปต่อร้านที่สอง..สาม.. อีชา..)
+ อย่าดื่มจนดึก แค่สามทุ่มก็บอกหัวหน้าว่ากลับกันเถอะ หวังว่าการดื่มแอลกอฮอล์ของคนเกาหลีจะค่อยๆเปลี่ยนไปในทางดีขึ้นด้วยเถิด เพื่อสังคมที่ดีขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เอาใจช่วย :-)

เขียนไว้เมื่อ 30-Aug-2011 ใน www.korean4life.com (version เก่า)

Tuesday, March 19, 2013

อัน นยอง ฮา เซ โย ..เปิดประเดิมบล๊อกใหม่ด้วยเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับการเรียนภาษาเกาหลี

ในที่สุดก็หลักสูตรภาษาเกาหลี ระดับ 4 ที่มหาวิทยาลัยซอกังก็สิ้นสุดลง (เย้!!) 10 อาทิตย์ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ช่วง 10 อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ถือว่าตั้งใจเรียนดีมาก (ชมตัวเอง) ต้องพูดกับตัวเองว่า ซุโกแฮดตะ (수고했다..แปลได้ประมาณว่า เราได้ทำงานหนักสำเร็จไปแล้วนะ)

นึกย้อนไปถึงตอนแรกๆที่มาเกาหลี ตอนนั้นช่างไร้เดียงสาทางด้านภาษาและวัฒนธรรมเกาหลียิ่งนัก เวลาไปซื้อของบรรดาพนักงานขายของในร้านต่างๆ โดยเฉพาะในย่านที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว พอเห็นเราไม่ใช่คนเกาหลี จากที่พูดเจื้อยแจ้ว สีหน้าอ่อนโยน ส่งยิ้มหวานกับลูกค้า สีหน้าของเขาและเธอมักจะเปลี่ยนไปเป็นหน้าแบบนิ่งๆ เฉยๆ และกลายเป็นคนพูดน้อยหรือแทบจะไม่เปล่งเสียงออกมาเลยก็มี ด้วยความเดียงสาอย่างที่บอก ทำให้ตีความได้แบบตื้นๆว่าคนเกาหลีคงไม่ค่อยอยากพูดกับคนต่างชาติ แต่เอาหล่ะ..ยังไงก็ตั้งใจจะวนเวียนอยู่ในประเทศนี้ไปอีกเรื่อยๆ ก็เลยตัดสินใจว่าเราต้องเรียนภาษาเกาหลีให้เร็วที่สุด

ต่อมาแม้จะ เริ่มเรียนภาษาเกาหลี พอลองไปพูดกับคนเกาหลีนอกห้องเรียนจริงๆ เค้าก็ฟังกันไม่ออกอีกว่าเราพูดอะไร แถมเค้าพูดอะไรมาก็ฟังไม่ออกอยู่ดี เวลาที่เราพยายามจะพูดอะไรออกไปสักอย่าง พวกเค้าก็ไม่ค่อยจะพยายามฟังเท่าไหร่ว่าเราต้องการอะไร เราเลยรู้สึกเหมือนเป็นคนพูดไม่รู้เรื่องไปอย่างช่วยไม่ได้ สรุปว่าแม้เริ่มเรียนภาษาเกาหลีแล้วก็ยังไม่สามารถสื่อสารอะไรได้มากนัก และไม่มีความมั่นใจในการพูดกับใครเท่าไหร่ ออกจะเป็นโรคกลัวการพูดกับคนเกาหลีไปเลย อาศัยที่ว่าเราหน้าตาดูกลมกลืนกับคนเกาหลี ถ้าเราไม่พูดก็ไม่มีใครรู้หรอกนะว่าเราเป็นคนต่างชาติ ดังนั้นเวลาไปไหนคนเดียว หิวก็เข้าร้านฟาสต์ฟูด หรือไม่ก็ซื้อขนมปังทาน เพราะซื้อง่ายดี ไม่ต้องพูดอะไรมาก คือว่าพยายามทำทุกวิถ๊ทางที่จะพูดให้น้อยที่สุด ถ้ามีเพื่อนคนเกาหลีอยู่ด้วยก็ให้เค้าเป็นกระบอกเสียงให้แทน บางครั้งก็นึกถามตัวเองว่ากลัวอะไรนักหนา เราก็ฉายเดี๋ยวไปต่างประเทศ ไปต่างเมืองมาเจ็ดย่านน้ำ ไม่เห็นเคยกลัว แต่พอมาเจออยู่ประเทศนี้จะกลัวอะไรหนักหนา (ถามตัวเอง ..แต่ไม่รู้จะตอบตัวเองยังไง)

พอเรียนภาษาเกาหลีระดับ 2 ไปได้ครึ่งเทอม ในวิชาการอ่าน มีบทเรียนเรื่องคนฝรั่งที่มาเกาหลีแล้วเป็นแบบเดียวกับเราเลย ข้อความตอนนึงเขียนว่า
밖에 나가면 사람들이 저에게 말을 걸 것 같이서 땅만 보고 걸었습니다. 처음 며칠 동안은 식당에 가기가 무서워서 집에서 빵만 먹었습니다.
แปลได้ว่า เวลาออกไปข้างนอก เพราะว่าดูเหมือนคนอื่นจะพูดกับเรา เราก็เลยก้มหน้าก้มตา มองแต่พื้น (คนจะได้ไม่ทักเรา) ตอนแรกๆร้านอาหารก็ไม่กล้าไป ทานขนมปังอยู่ที่บ้านเท่านั้น
โอ้ว! บทเรียนนั้นอ่านแล้วประทับใจมาก มีคนเป็นแบบเราด้วยนะเนี่ย รู้สึกดีขึ้นเยอะเลย ตอนสุดท้ายฝรั่งคนนั้นปรับตัวได้ ภาษาเกาหลีก็ดีขึ้น เวลาไปไหนไม่ต้องก้มหน้ามองพื้นดินอีกต่อไป แม้เขาจะยังไม่พูดเก่งแต่ก็ไม่กลัวที่จะสื่่อสาร บทเรียนเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เรามากที่เดียว โรคกลัวการพูดภาษาเกาหลีค่อยๆหายไป จนถึงทุกวันนี้แม้จะยังไม่เก่งภาษาเกาหลี แต่เราไม่กลัวอีกต่อไปแล้ว ใครจะเห็นว่าเราเป็นคนต่างชาติก็ช่าง
คุณพูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ฉันสิพูดภาษาของคุณได้ แม้จะไม่เก่งก็ตามเหอะ เยี่ยมยอดจะตาย (จริงมั๊ยคะ...ขอเสียงสนับสนุนหน่อยค่ะ)
เขียนไว้เมื่อ 20-Aug-2011 ใน www.korean4life.com (version เก่า)

Kwang Jang Market (광장 시장)


อากาศเริ่มไม่หนาวช่วงนี้เลยได้โอกาสหนีเที่ยวบ่อย วันนี้ไปเดินเล่นและเก็บภาพตลาดกวังจังมาฝากกันค่ะ คำว่าตลาดในภาษาเกาหลีคือ 시장 (ชิจัง) เราจะเรียกชื่อก่อนแล้วตามด้วยคำว่าชิจัง เช่น ทงแดมุนชิจัง นัมแดมุนชิจัง อีกคำที่น่าจำไว้คือ 전통 시장 (ชอนทง ชิจัง) แปลว่าตลาดพื้นเมือง คำว่า ชอนทง แปลว่าพื้นเมือง, ดั้งเดิม (traditional) ที่เกาหลีใช้คำนี้บ่อยๆ เช่น 전통 음식 (ชอนทง อึมชิก) อาหารดั้งเดิมของเกาหลี 전통 노래 (ชอนทง โนแร) เพลงพื้นเมืองเกาหลี

ตลาดกวังจังเป็นตลาดพื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ของประเทศตั้งขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1905 อืมม์เรียกว่าตลาด 100 ปีก็ได้นะเนี่ย รูปข้างล่างนี้ก็โฆษณาไว้แบบนี้ (คำศัพท์ง่ายๆอีกคำ 100 년 อ่านว่า แพก นยอน -- 백년 คือ 100 ปี) ตลาดกวังจังแม้จะไม่โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวเหมือนกับตลาดนัมแดมุนและ ตลาดทงแดมุน แต่ตลาดกวังจังก็มีชื่อเสียงมาก ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ได้ดูรายการทีวีที่พาไปเที่ยวตลาดนี้บ่อยมากคงเพราะว่า ตลาดนี้มีสินค้าหลากหลายและยังคงความเป็นตลาดพื้นเมืองของเกาหลีไว้ได้อย่างดี



สินค้าที่หาซื้อได้ที่นี่มีตั้งแต่ผ้าชนิดต่างๆ งานฝีมือแบบเกาหลีๆ ชุดฮันบก เครื่องไหว้ในพิธีเกาหลี เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องนอน ถ้วยจานชาม อาหารสดและอาหารแห้ง ที่สำคัญใครที่อยากลิ้มรสอาหารเกาหลีแบบดั้งเดิมแล้วหล่ะก็ขอแนะนำให้มา เที่ยวที่ตลาดนี้เลยเพราะมีมุมให้นั่งทานอาหารแบบที่อาจุมมาทำให้เราทานแบบ สดอร่อย เรียกว่า ทานไป ดูวิธีการทำไปและก็ไปถ่ายรูปไปด้วย ฟินมากๆ



อาหารที่ขึ้นชื่อของที่นี่คือพินแดต๊อก (빈대떡) หรือแพนเค้กเกาหลีที่ทำจากถั่วเขียวบด มีอีกชื่อว่าหนกทูจอน (녹두전) หรือจอนที่ทำจากถั่วเขียว — จอน คือชื่ออาหารที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า พิซซ่าเกาหลีนั่นเอง จริงๆแล้วพินแดต๊อกนี้สมัยแรกเริ่มมีชื่อว่าพินจาต๊อก (빈자떡) แปลว่าต๊อกสำหรับคนจน (พินจา แปลว่าคนจน) เข้าทำนองว่า คนรวยทานเนื้อสัตว์คนจนทานต๊อกถั่วเขียว ที่นี่มีร้านพินแดต๊อกเยอะเลย ร้านไหนๆก็คนเยอะ อาจุมมาจะทอดไว้เยอะมาก พอลูกค้าจะทานก็มาจี่ๆให้ร้อนๆ เคยดูสารคดีเกี่ยวกับตลาดนี้ว่ามีคนแก่ๆที่ตั้งใจเดินทางมาที่ตลาดนี้เพื่อ ซื้อพินแดต๊อกเพราะที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่าของที่นี่



จริงๆเคยมาตลาดนี้หลายครั้งแต่ยังไม่เคยลองพินแดต๊อกสักครั้งได้แต่มองไป มองมาเพราะว่าชิ้นใหญ่จัง ลูกค้าส่วนใหญ่จะมากัน 2-3 คนแล้วสั่งหนึ่งชิ้น วันนี้ก็เล็งอยู่นานว่าเราจะทานคนเดียวหมดมั๊ยยิ่งเป็นผู้หญิงที่ทานไม่จุ ด้วย (ฮ่าๆๆ) เล็งอยู่พักนึงเห็นมีคนทานคนเดียวเหมือนกัน (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย >_<” ) ก็เลยตัดสินใจว่าวันนี้แหล่ะต้องลองให้ได้
นี่ค่ะหน้าตาพินแดต๊อกชิ้นโตๆของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ^0^ อ้อชิ้นนี้ราคา 4,000 วอน มีแบบซื้อแป้งไปทอดเองที่บ้านด้วย 10,000 วอน พินแดต๊อกและอาหารจำพวกจอนนอกจากจะทานจริงจังแทนข้าวแล้วยังทานเป็นกับ แกล้มได้ด้วย โดยนิยมทานกับเหล้าเกาหลีทั้งโซจู (소주) หรือมักกอรี (막걸리 แปลว่าไวน์ข้าว) อย่าไปสั่งเบียร์นะคะคนเกาหลีเค้าบอกว่ามันไม่เข้ากันกับเบียร์ ^^



ดูมาจากในรายการทีวีว่าเมนูอีกอย่างที่ไม่ควรพลาดคือคิมบับ (김밥) คิมบับก็มีขายหลายร้านอีก ในทีวีบอกว่าร้าน 마약김밥 (มายักคิมบับ) เป็นร้านเก่าแก่ที่มีคิมบับชิ้นเล็กๆแต่อร่อยมาก พิธีกรถามคนขายว่าทำไมชื่อ 마약김밥 เพราะคำว่า 마약 (มายัก) แปลว่าสารเสพติด คำตอบที่ได้ก็คือ คิมบับที่นี่อร่อยมากใครที่เริ่มทานแล้วรับรองหยุดทานไม่ได้ง่ายๆเหมือนติด ยาเสพติดนั่นเอง

วันนี้เดินดูมีตั้งหลายร้านที่เขียนว่า 마약김밥 แต่เพิ่งดูรายการวาไรตี้เกาหลี “남자의 자격” (The Qualities of a Man) เค้าไปที่ตลาดนี้กัน จำได้ว่าเค้าซื้อร้าน (ร้านสีแดงๆ) เลยวนหาจนเจอ แต่เพราะอิ่มเลยซื้อกลับบ้าน 2 กล่อง 5,000 วอน



เดินๆแล้วเจออีกร้านมีป้ายว่าออกรายการทุกช่องอีกเหมือนกัน คุณยายบอกว่าขายมาตั้งแต่ยังสาว แถมคุณยายห่อให้ทานสดๆเลยอยากลองชิมแต่ยังอิ่มมาก เลยพยายามเดินวนๆรอบตลาดให้ย่อย (ลงทุนมากกกค่ะ) ในที่สุดก็คิดว่าพอทานไหว


เป็นแบบนี้ค่ะ น่าทานมากใช่มั๊ยคะ..อร่อยดีชิ้นเล็กๆมีไม้จิ้มฟันให้เราจิ้ม ทานกับซีอิ๊วใส่วาซาบิ ทานเพลินเลยเสียตรงที่อิ่มอยู่เกือบจะทานไม่หมด ขอแนะนำให้หาเพื่อนไปเที่ยวด้วยกันจะดีกว่า จะได้แบ่งๆกันทานหลายๆอย่าง จานนี้สำหรับ 1 คน ราคาเพียง 2,500 วอน




ร้านอาหารอื่นๆที่แนะนำ ร้านกุกซู (국수 ก๋วยเตี๋ยวเกาหลี) & มันดู (만두 เกี๊ยว) ทั้งแบบนึ่งและแบบเป็นเกี๊ยวน้ำ, ร้านพิบิมบับ (비빔밥 ข้าวยำเกาหลี), ร้านอาหารทะเล มีทั้งแบบสดๆ แบบลวกและแบบทอด,พัดจุก (팟죽 โจ๊กถั่วแดง), จกบัล (족발 เท้าหมู) จะขายคู่กับ ซุนแด (순대 ไส้กรอกหมูแบบเกาหลี) และต๊อกโบกิ (떡볶이 Hot & Spicy Rice Cake) อาหารแต่ละประเภทมีให้เลือกมากกว่าหนึ่งร้าน คิดว่าอร่อยเหมือนๆกันทุกร้าน ตรงไหนมีที่ว่างก็เลือกที่นั่นแล้วกันนะคะ

มาดูภาพบรรยากาศตลาดและสินค้าอื่นๆกันบ้าง









วิธีการไปตลาดกวังจัง ง่ายที่สุดคือไปโดยรถไฟใต้ดินค่ะ ขึ้นรถไฟสาย 1 – สีน้ำเงิน ลงสถานี 종로5가 (Jongno-5-ga Station) ทางออกหมายเลข 8 เดินออกมาที่ถนนแล้วตรงอย่างเดียวไม่เกิน 300 เมตร ก็ถึงทางเข้าตลาด

ข้อมูลจาก
http://www.kwangjangmarket.co.kr
http://discoveringkorea.com/110123/gwangjang-traditional-market-in-seoul/
http://en.wikipedia.org/wiki/Bindaetteok
http://en.wikipedia.org/wiki/Bindaetteok